ในปัจจุบันนี้เป็นโลกของ โซเชียล เน็ตเวิร์ค ใครๆก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่าย รวมทั้งมีการเผยแพร่ไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต ให้ผู้อื่นได้รับรู้ได้ง่าย ซึ่งยากที่จะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องจริง หรือสร้างให้เป็นแบบนั้น บางคนที่มีการโพสลงโซเชียลอวดเรื่องราวในแง่ดีของตนเอง มโนเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปเรื่อยหรือมีการโกหกคนอื่นเพื่อเรียกร้องความสนใจ บางทีคนเหล่านั้นอาจจะเป็น โรคหลอกตัวเอง โดยที่ไม่รู้ตัวก็ได้
โรคหลอกตัวเอง (Pathological Liar) คือความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยจะมีการพูดโกหกเริ่มจากการโกหกตัวเองก่อน หลอกตัวเอง สร้างเรื่องขึ้นมาหลอกตัวเองซ้ำๆเพื่อหลีกหนีความจริงบางอย่างจนกระทั่งจิตใต้สำนึกคิดไปเองว่าเรื่องที่เราสร้างขึ้นมานั้นคือเรื่องจริง และมีการโกหกคนอื่นเพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือเพิ่มคุณค่าให้กับตนเอง
โรคหลอกตัวเองสามารถแบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ 3 กลุ่มดังนี้
- กลุ่มโรคซึมเศร้า
ส่วนใหญ่ผู้ที่ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีปมในอดีตที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อจิตใจ จึงทำให้ผู้ป่วยสร้างเรื่องราวขึ้นมาหลอกตัวเอง เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น และเมื่อโกหกตัวเองบ่อยๆจะทำให้เกิดความเคยชิน
- กลุ่มป่วยเป็นโรคจิตเวชอยู่แล้ว
ผู้ป่วยประเภทนี้มักจะมีอาการหลงผิด มีความคิดและความเข้าใจผิดๆ ทำให้โกหกได้เนียน แต่ยังมีการปะติดปะต่อเรื่องราวไม่ค่อยดีนัก เมื่อมีใครมาขัดแย้งกับความคิดของเขา ก็จะรู้สึกไม่พอใจ
- กลุ่มมีปัญหาด้านบุคลิกภาพ
ผู้ป่วยกลุ่มนี้จัดว่าเป็นคนที่มีนิสัยที่ชอบโกหก ชอบพูดเท็จโดยกมลสันดาน ซึ่งหากไม่คิดกลับตัวกลับใจ นิสัยชอบหลอกตัวเองและโกหกผู้อื่นก็อาจจะเป็นไปตลอดชีวิต
สาเหตุของการเกิดโรคหลอกตัวเอง
- ความขัดแย้งในครอบครัว อาจอยู่ในครอบครัวที่มีปัญหามาตั้งแต่เด็ก ๆ
- มีอาการของโรคบุคลิกภาพแปรปรวน เช่น อันธพาล หลงตัวเอง หรือโรคบุคลิกภาพก้ำกึ่ง เป็นต้น
- ถูกกระทำชำเรา หรือถูกทำร้ายร่างกาย บังคับขืนใจในบางเรื่อง
- มีความผิดปกติทางประสาท เช่น ความพิการทางสมอง หรือความบกพร่องทางการเรียนรู้
- มีผลข้างเคียงมาจากโรคยั้งใจไม่ได้ เช่น ชอบขโมยของ โรคบ้าช้อปปิ้ง เป็นต้น
- มีพฤติกรรมเลียนแบบ
อาการของผู้ป่วยโรคหลอกตัวเอง
- พูดไปยิ้มไป แต่เป็นยิ้มหลอก ๆ ที่สามารถจับสังเกตได้
- พูดติด ๆ ขัด ๆ เนื้อความซ้ำไปซ้ำมา
- พูดด้วยสีหน้านิ่งเกินเหตุ มักจะเคลื่อนไหวศีรษะน้อยหรือเร็วเกินไป ดูไม่เป็นธรรมชาติ
- อธิบายเรื่องยาว เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ
- กะพริบตาถี่กว่าปกติ
- หายใจถี่และแรงขึ้น
- ใช้มือแตะหรือจับที่ปากขณะที่พูด หรือจับต้องอวัยวะบางส่วนของร่างกายขณะพูด
- ยืนนิ่ง มีอาการเกร็งอย่างเห็นได้ชัด
- ย่ำเท้าซ้ำ ๆ หรือขยับตัวบ่อยมาก
- กัดริมฝีปากหรือเม้มปาก
การรักษาโรคหลอกตัวเอง
คนที่เป็นโรคนี้ส่วนมากมักจะไม่รู้ตัวเอง ดังนั้นคนรอบข้างหรือคนในครอบครัวควรให้ความร่วมมือ ชักจูงผู้ป่วยไปทำการรักษาโดยควรไปพบจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจและบำบัดโรค โดยจิตแพทย์จะมีการทำ ความคิดและพฤติกรรมบำบัด เพื่อปรับทัศนคติและความคิดของผู้ป่วย เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการหลอกตัวเองเสียก่อน อาจจะต้องมีการทานยาร่วมด้วยในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลงผิด และถ้าหากผู้ป่วยเป็นเด็กอาจใช้วิธีว่ากล่าวตักเตือน แต่ต้องมีเหตุผลที่สมควรในการทำโทษและบอกเหตุผลให้ผู้ป่วยเข้าใจ แต่ควรปรึกษากับจิตแพทย์ในส่วนของบทลงโทษที่เหมาะสมของผู้ป่วย
หากพบว่าตนเอง หรือคนในครอบครัวมีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคหลอกตัวเอง ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาและรับคำแนะนำ เพราโรคโรคตัวเองนี้อาจเกิดจากการที่เราเป็นโรคจิตเวชชนิดอื่นทำให้เกิดโรคหลอกตัวเองขึ้นมา จะได้ทำการรักษาได้ตรงจุดก่อนที่อาการจะรุนแรงจนยากแก่การรักษา